แชร์บทความนี้

The-neutral-yoga-content13

โยคะดับการปรุงแต่งของจิต

การฝึกอาสนะและปราณายามะ ที่เป็นการฝึกทางกายภาพ จะมีอิทธิพลต่อทัศนคติ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตของเราได้อย่างไร?

ด้วยการฝึกโยคะอาสนะ ที่มีการเคลี่อนไหวประกอบกับลมหายใจ การรู้เนื้อรู้ตัวระหว่างการฝึก จะทำให้ความคิด ความฟุ้งของเราน้อยลง ซึ่งมีผลดีต่อระบบประสาทอัตโนมัติ ช่วยพัฒนาสมองส่วนคุณธรรมและสติปัญญา ที่จะไปควบคุมสมองส่วนอารมณ์อีกครั้งหนึ่ง

สมองใหญ่ Cerebral Cortex โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า จะทำหน้าที่เกี่ยวกับ เหตุผล สติปัญญา วิจารญาณ ศีลธรรม เช่น ถ้ามีอุบัติเหตุที่ได้รับความกระทบกระเทือนสมองส่วนนี้ หรือ การใช้ยาเสพติด ก็จะทำให้พฤติกรรมที่เป็นคนดีมีศีลธรรมหายไปได้ เป็นต้น

สมองส่วน ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus)  จะทำหน้าที่เกี่ยวกับ อารมณ์และความรู้สึกต่างๆ

ในการฝึกโยคะ อาสนะและปราณายมะ เป็นเพียงบางส่วนของ มรรคแห่งโยคะ 8ประการ เท่านั้น

ท่านปตัญชลี ผู้รวบรวมศาสตร์ของโยคะ อธิบายว่า โยคะคือ “การดับการปรุงแต่งของจิต“ ซึ่งได้มาด้วยการปฎิบัติ

การฝึกที่ท่านปตัญชลีแนะนำ เรียกว่า มรรคแห่งโยคะ 8ประการ ได้แก่

1.ยมะ(Yama) คือ ศีล มี 5ข้อ ประกอบไปด้วย  อหิงสา (ไม่เบียดเบียนทำร้าย)  สัตย์ (ไม่พูดปด)  อัสเตยา (ไม่ลักทรัพย์)  พรหมจรรย์ (ควบคุมพฤติกรรมทางเพศ)  และอปริเคราะห์ (ไม่สะสม)

2.นิยมะ (Niyama) คือ วินัย มี 5ข้อ ประกอบไปด้วย  เศาจะ (รักษาความสะอาด)  สันโดษ (พึงใจในสิ่งที่ตนมี )  ตบะ (อดทน)  สวาธยายะ (หมั่นศึกษาเพื่อเรียนรู้ตนเอง)  และอิศวรปณิธาน (มีศรัทรา)  ทั้งยมะและนิยมะเป็นไปเพื่อปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องเหมาะสม

3.อาสนะ (Asana)  คือ การมีร่างกายที่สมดุล ด้วยการฝึกท่าอาสนะต่างๆและการดูแลร่างกาย

4.ปราณายามะ (Pranayama)  คือ การมีลมหายใจที่สงบ ด้วยการฝึกควบคุมลมหายใจ ส่งผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติที่สงบลง

5.ปรัตยาหาระ (Pratyahara) คือ การสำรวมอินทรีย์ ควบคุมประสาทสัมผัสทั้ง 5 จากการกระทบจากภายนอก

6.ธารณะการเพ่งจ้อง (Dharana)  คือการเพ่งจ้องอย่างต่อเนื่อง ในสิ่งที่กำลังทำอยู่

7. ฌาน (Dhyana) การเพ่งจ้องอย่างต่อเนื่องจนเกิดสมาธิ

8. สมาธิ (Samadhi)  สภาวะจิตสูงสุดในการฝึกโยคะ

มนุษย์แต่ละคนย่อมมีจุดมุ่งหมายของตนเอง ความขัดแย้งย่อมมีโอกาสเกิดขี้นได้เป็นธรรมดา เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จึงจำเป็นต้องมีกฎ กติกา จริยธรรม ศีลธรรม

การเป็นคนมีคุณธรรมและจริยธรรม จะทำให้เราสามารถควบคุมตนเองได้  พิจารณาความต้องการของตัวเอง คอยกำกับให้เราปฎิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม เอาใจเขามาใส่ในเรา รู้จักผิดชอบชั่วดีได้

ครูหลง

...............

ข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากสถาบันโยคะวิชาการ

ขอบพระคุณครับ

Facebook Comments Box

แชร์บทความนี้