
กล้ามเนื้อหัวไหล่ (Deltoid muscle)
หัวไหล่เป็นหนึ่งในอวัยวะของร่างกาย ที่ใช้งานค่อนข้างบ่อย เป็นข้อต่อที่เชื่อมต่อระหว่างแขนกับลำตัว กล้ามเนื้อหัวไหล่ที่แข็งแรง นอกจากจะช่วยให้เราทำกิจกรรมต่างๆ ที่ใช้แขนได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังจะช่วยให้ดูมีบุคลิกที่ดีอีกด้วย
กล้ามเนื้อหัวไหล่ มีชื่อเรียกว่า เดลทอยด์ (Deltoid muscle) เป็นกล้ามเนื้อรูปสามเหลี่ยม อยู่บริเวณไหล่ เป็นกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของแขน ที่มีข้อต่อไหล่เป็นจุดหมุน คำว่า “เดลทอยด์” มาจากอักษรเดลตา (Delta) ในภาษากรีก ซึ่งเป็นอักษรรูปสามเหลี่ยม
กล้ามเนื้อเดลทอยด์ มีจุดเกาะที่กว้างและครอบคลุม ตั้งแต่ด้านหน้าจนถึงด้านหลังของไหล่ มีหน้าที่หลักเกี่ยวกับ การเคลื่อนไหวของแขนรอบข้อต่อไหล่ ในรูปแบบต่างๆ มีเส้นใยกล้ามเนื้อที่มีจุดเกาะต้นที่ต่างกัน จึงมีหน้าที่การทำงานที่แตกต่างกันออกไป
ซึ่งสามารถแบ่งเส้นใยกล้ามเนื้อที่มาจากจุดเกาะต้น ได้เป็น 3 เส้นใยกล้ามเนื้อได้ดังนี้
1.เส้นใยกล้ามเนื้อด้านหน้า (Anterior fibers) มีจุดเกาะต้นที่ขอบด้านหน้าและพื้นผิวด้านบนของปลายด้านข้างประมาณหนึ่งในสามของกระดูกไหปลาร้า
ทำหน้าที่ งอต้นแขน (Shoulder flexion) ,ดึงแขนเข้าหาลำตัวในแนวระดับ (Shoulder Horizontal adduction) หมุนแขนเข้า (Shoulder internal rotation)
2.เส้นใยกล้ามเนื้อแนวกลาง (Middle fibers) มีจุดเกาะต้นที่ขอบด้านข้างของอโครเมียน (acromion) ซึ่งเป็นปลายด้านข้างของกระดูกสะบัก
ทำหน้าที่หลักในการกางแขน (Shoulder abduction)
3.เส้นใยกล้ามเนื้อด้านหลัง (Posterior fibers) มีจุดเกาะต้นที่ขอบด้านล่างตลอดแนวของแนวสันกระดูกสะบัก (spine of scapula)
จะทำงานตรงข้ามกับเส้นใยกล้ามเนื้อด้านหน้า คือ การเหยียดแขนไปด้านหลัง (Shoulder Extension) ,กางแขนออกไปด้านหลังในแนวระดับ (Shoulder Horizontal abduction) ,หมุนแขนออก (Shoulder external rotation)
เส้นใยกล้ามเนื้อทั้ง 3 จะเชื่อมรวมกัน และไปเกาะบนกระดูกต้นแขน (humerus) ซึ่งเรียกว่า แนวเดลทอยด์ (deltoid tuberosity) เป็นจุดเกาะปลาย
เมื่อทั้ง 3เส้นใยกล้ามเนื้อทำงานพร้อมกัน จะช่วยในการกางแขนออกไปด้านข้าง (Shoulder abduction) ในมุม 30-90องศา ซึ่งในมุม 0-30องศา จะเป็นหน้าที่ของกล้ามเนื้อ Supraspinatus และในมุม 90-180องศา จะเป็นหน้าที่ของกล้ามเนื้อ Upper Trapezius
ท่าอาสนะที่ยืดกล้ามเนื้อเดลทอยด์ (Deltoid muscle) เช่น
-ท่านกอินทรีย์ (Garudasana) จะช่วยยืดเส้นใยกล้ามเนื้อส่วนกลางและส่วนด้านหลัง
-ท่าอูฐ (Ustrasana) จะช่วยยืดเส้นใยกล้ามเนื้อส่วนหน้า
ท่าอาสนะที่สร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อกล้ามเนื้อเดลทอยด์ (Deltoid muscle) เช่น
-ท่านักรบ2 (Virabhadrasana II)
-ท่าแพลงค์ (Phalakasana) เป็นต้น
ครูหลง