
การทำงานของกล้ามเนื้อกระบังลม (Diaphragm)
การหายใจที่ไม่เป็นไปตามกลไก ของระบบการหายใจ ส่งผลให้หายใจไม่สะดวก ปวดคอ บ่า ไหล่ เหนื่อยง่ายขณะออกกำลังกายหรือฝึกโยคะ
และยังส่งผลให้กล้ามเนื้อแกนกลางชั้นลึกทำงานได้ไม่เต็มที่ เกิดการชดเชยดึงกล้ามเนื้อหลังมาทำงานแทนจนปวดหลัง
การหายใจที่ดีช่วยให้กล้ามเนื้อแกนกลางชั้นลึกที่ทำงานได้ดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมสร้างความมั่นคงของร่างกายได้
กล้ามเนื้อกระบังลม (Diaphragm) มีความสำคัญมากในระบบการหายใจ อากาศที่หายใจเข้าประมาณร้อยละ 75 เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกระบังลม ส่วนที่เหลืออีก 25% จะเป็นหน้าที่ของกล้ามเนื้อช่วยหายใจต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อยึดซี่โครงด้านนอก (External intercostals muscle) กล้ามเนื้อบริเวณไหปลาร้าและต้นคอ (Sternocleidomastoid และ Scalenus) เป็นต้น
เมื่อหายใจเข้า กล้ามเนื้อกระบังลมจะหดตัว ดึงส่วนโค้งของกระบังลม (Central tendon) เข้าหาจุดเกาะต้นของตัวเอง จึงทำให้ central tendon ตึงและขยับตัวต่ำลงมา ซี่โครงขยายออกมา ทำให้ปอดขยายตัวได้มากขึ้น ดึงอากาศเข้ามาในปอดมากขึ้น ปริมาตรช่องอกเพิ่มขึ้น ความดันอากาศต่ำลง
เมื่อหายใจออก กล้ามเนื้อกระบังลมคลายตัว กลับมาอยู่ในสภาพโค้งขึ้นเหมือนเดิม พร้อมกับกระดูกซี่โครงและกระดูกอก ลดตัวลงปริมาตรช่องอกลดลง ความดันเพิ่มขึ้น อากาศออก
จุดเกาะต้น(Origin) อยู่ที่กระดูกกลางอก(Sternum,Xiphoid process), กระดูกซี่โครง (Ribs,costal margin) ไปจนถึง กระดูกซี่โครงซี่ที่ 12 และ เอ็น (Ligament) ของกระดูกสันหลัง กับ กล้ามเนื้อPsoas Major/Minor และQL ไปที่ จุดเกาะปลาย(insertion) ที่ Central tendon
นอกจากกระบังลมจะทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจแล้ว ยังมีหน้าที่สร้างความมั่นคงให้แกนกลางร่างกาย (Core stabilize) อีกด้วย
เพราะฉะนั้นการหายใจที่ไม่เป็นไปตามกลไกของการหายใจที่ดี ย่อมส่งผลต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางอีกด้วยครับ
ครูหลง