
แค่เปลี่ยนก็หายปวด
คอยื่น หลังค่อม ไหล่ห่อ สะโพกแอ่น
สร้างความเจ็บปวด ที่กล้ามเนื้อ โดยเราไม่ทันรู้ตัว บางทีก็คิดว่า วันนี้ไปทำอะไรมาน้า ถึงได้ปวด
เราใช้ชีวิตประจำวัน ในท่าทางที่คุ้นชิน แต่อาจจะอยู่ในท่าทาง ที่ไม่เหมาะสมอยู่ก็ได้ แรกๆอาจรู้สึกแค่ตึงๆ ต่อมาก็เริ่มปวด จนอาจลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ได้
การปรับร่างกาย ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมนั้น จะช่วยป้องกันและบรรเทา อาการเจ็บปวดตึงได้ เพียงแต่เราต้องรู้สึกตัวบ่อยๆ และคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอ ให้กลับมาอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง
เรามาดูลักษณะและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น จากท่าทางที่ไม่เหมาะสม ในแบบต่างๆกันนะครับ

1.หลังบนค่อม หลังล่างแอ่น (Kyphosis-Lordosis)
หลังค่อมมักมาควบคู่กับคอยื่น ซึ่งทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อคอบ่าไหล่ ส่งผลต่อการหายใจ เนื่องจากกระดูกซี่โครงขยายได้ไม่เต็มที่ มักพบในคนที่มีหน้าท้องใหญ่ หรือคุณแม่ตั้งครรภ์ มีการหมุนของกระดูกเชิงกรานไปด้านหน้า กล้ามเนื้อต้นขาด้านในจะตึงมาก และมักพบปัญหาปวดหลังช่วงล่างได้บ่อยๆ
กล้ามเนื้อที่หดสั้น (Tight)
หน้าอก (pectoralis),กลุ่มงอสะโพก (Hip flexor),หลังล่าง (Erector Spinae)
กล้ามเนื้อที่ยืดยาวออก (weak)
สบัก(Rhomboid,Mid/Low Trapezius), หน้าท้อง(Abs), ก้น(Glute)

2.หลังเอน (Sway Back)
หลังจะเอนไปด้านหลัง สะโพกจะยื่นมาด้านหน้า ล้ำแนวข้อเท้าและไหล่ มักพบร่วมกับไหล่ห่อ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังตึง และใช้งานกล้ามเนื้อหน้าท้องน้อยกว่าปกติ มักมีอาการปวดเอวปวดเข่าและเสี่ยงไหล่ติด
กล้ามเนื้อที่หดสั้น (Tight)
ต้นขาด้านข้าง (Tensor Fascia Latae, iliotibial band),กลุ่มงอสะโพก (Iliopsoas)
กล้ามเนื้อที่ยืดยาวออก (weak)
ก้น (Glute), ต้นขาด้านหลัง(hamstring)

3.หลังแบน (Flat Back)
ความโค้งของช่วงหลังล่างน้อย เข่าแอ่น ก้นแบน มีกระดูกเชิงกรานหมุนไปด้านหลัง คนหลังแบนมักมีกล้ามเนื้อหลังแข็งเกร็ง และอาจเกิดจากอาการปวดหลังเรื้อรัง
กล้ามเนื้อที่หดสั้น (Tight)
หน้าท้อง(Abs), ก้น(Glute), ต้นขาด้านหลัง(hamstring)
กล้ามเนื้อที่ยืดยาวออก (weak)
กลุ่มงอสะโพก (Iliopsoas),หลังล่าง (Erector Spinae)
วิธีการดูแลและป้องกันอาการเจ็บปวดของร่างกาย
1. ปรับกิริยาท่าทางให้ถูกต้องในชีวิตประจำวัน
2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน
3. รู้ถึงขีดจำกัดกำลังของตัวเองในการยกของหนัก
4. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน ซึ่งทำให้กระดูกสันหลังส่วนเอวต้องรับน้ำหนักมาก
5.ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายทั่วไปให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ
6. ฝึกโยคะและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
7. ปรึกษาแพทย์และรับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติ
ครูหลง