
ชนิดของข้อต่อในร่างกาย
การฝึกโยคะ ช่วยให้ข้อต่อ มีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น ทำให้สามารถเคลื่อนไหวได้ระยะ หรือมุมในการเคลื่อนไหวที่มากขึ้น ช่วยบำบัดและบรรเทาความเจ็บปวดตามข้อต่างๆได้
ข้อต่อของร่างกายที่เคลื่อนไหวได้ จะประกอบด้วยปลายของกระดูก 2 ชิ้น ที่บุด้วยกระดูกอ่อนมาประกอบกัน มีพังผืดหุ้มรอบข้อต่อ ภายในข้อต่อบุด้วยเยื่อสร้างน้ำหล่อเลี้ยงข้อต่อ ช่องว่างของข้อต่อจึงมีน้ำหล่อเลี้ยงบรรจุอยู่
หน้าที่ของข้อต่อ คือ เกิดการเคลื่อนไหวและรับน้ำหนัก
เราสามารถแบ่งชนิดของข้อต่อในร่างกายได้ตามลักษณะการติดต่อกันของกระดูกแต่ละชิ้น โดยแบ่งได้เป็น 3แบบ คือ ข้อต่อเส้นใย (fibrous joints) ข้อต่อกระดูกอ่อน (cartilaginous joints) และข้อต่อมีไขข้อหรือข้อต่อซินโนเวียล (synovial joints)
ข้อต่อแบบซินโนเวียล มีการเคลื่อนไหวได้ทั้งในสองมิติและสามมิติ
ซึ่งแบ่งออกได้ตามรูปร่างลักษณะของข้อต่อเป็น 6 แบบ ได้แก่

ข้อต่อแบบเบ้า (Ball and socket joint) จัดว่าเป็นข้อต่อที่มีความอิสระในการเคลื่อนไหวสูงที่สุด เนื่องจากสามารถเคลื่อนไหวได้ในสามมิติ อย่างไรก็ตาม ข้อต่อแบบเบ้ามีโอกาสเลื่อนหลุดได้ง่าย จึงจำเป็นต้องมีเอ็นรอบข้อต่อและกล้ามเนื้อจำนวนมากเพื่อเพิ่มความเสถียรของข้อต่อ ตัวอย่างของข้อต่อแบบเบ้า ได้แก่ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล (glenohumeral joint) ของไหล่ และข้อต่อสะโพก (hip joint)

ข้อต่อแบบบานพับ (Hinge joint) มีการเคลื่อนไหวในสองมิติคล้ายบานพับประตู ตัวอย่างของข้อต่อแบบบานพับ เช่น ข้อศอกและข้อเข่า ข้อเท้า ข้อต่อนิ้วมือแล้วนิ้วเท้า

ข้อต่อแบบวงรี (Ellipsoidal/Condylar joint) มีพื้นผิวของข้อต่อคล้ายกับข้อต่อแบบเบ้า แต่จะมีการจำกัดการเคลื่อนไหวในด้านใดด้านหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ข้อต่อของข้อมือ

ข้อต่อแบบเดือยหรือแบบหมุน (Pivot joint or rotary joint) เป็นข้อต่อที่กระดูกชิ้นหนึ่งจะมีส่วนยื่นออกไปเป็นเดือย และรับกับกระดูกอีกชิ้นที่มีลักษณะคล้ายเบ้าหรือวงแหวน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวแบบหมุนตามแนวแกนของเดือย ตัวอย่างที่เห็นชัด คือข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลังชิ้นที่ 1 และชิ้นที่ 2 (Atlantoaxial joint) ซึ่งทำให้มีการหมุนของศีรษะและลำคอได้

ข้อต่อแบบเลื่อน (Gliding joint) เป็นข้อต่อที่มีเพียงการเคลื่อนไหวในแนวระนาบ เช่นข้อต่อระหว่างกระดูกข้อมือ ข้อต่อระหว่างกระดูกข้อเท้า

ข้อต่อแบบอานม้า (Saddle joint) เป็นข้อต่อที่มีการประกบกันของส่วนเว้าของปลายกระดูกทั้งสองในแนวที่ต่างกัน ทำให้มีการจำกัดการหมุน ตัวอย่างเช่นข้อต่อฝ่ามือ (carpometacarpal joint) ของนิ้วหัวแม่มือ
วิธีการที่ดูแลข้อต่อให้ใช้ไปได้นานๆมีดังนี้
-เลือกการออกกําลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำหรือปานกลาง
-ควบคุมน้ำหนักของร่างกาย เพื่อไม่ให้ข้อต่อรับนำ้หนักมากเกินไป
-ทั้งก่อนและหลังออกกําลังกาย ต้องมีการอบอุ่นร่างกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
-ดื่มน้ําให้เพียงพอ เพราะในข้อต่อประกอบด้วยของเหลวอย่างคอลลาเจนและน้ํา
ครูหลง