
กล้ามเนื้อเซอราตัส แอนทีเรีย (Serratus anterior)
อาการ Winged Scapular หรือที่เรียกว่าสะบักลอย เกิดจากกล้ามเนื้อที่ควบคุมสะบักทำงานได้ไม่ดี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากกล้ามเนื้อเซอราตัส แอนทีเรีย (Serratus anterior) ที่ไม่แข็งแรงนั่นเอง ส่งผลให้กล้ามเนื้อบ่า (Upper trapezius) มักมีอาการตึง เพราะต้องทำงานแทนกล้ามเนื้อเซอราตัส แอนทีเรีย (Serratus anterior) ซึ่งมีหน้าที่ในการผลักและคุมสะบัก และทำให้กล้ามเนื้อหัวไหล่ทำงานได้ไม่เต็มที่
กล้ามเนื้อเซอราตัส แอนทีเรีย (Serratus anterior) เป็นกล้ามเนื้อด้านในของรักแร้ อยู่ทางด้านข้างของอกมีรูปร่างเป็นแฉก ๆ ยึดติดกับกระดูกซี่โครงทางด้านหน้าไปยังกระดูกสะบัก คำว่า “Serratus” เป็นภาษาละตินหมายถึงฟันเลื่อย ซึ่งเป็นลักษณะของกล้ามเนื้อ Serratus anterior ที่แนบไปกับซี่โครงแต่ละซี่ทางด้านหน้า เป็นกล้ามเนื้อที่สามารถมองได้ชัดเวลากางไหล่ออก ช่วยในเรื่องการส่งแรง และรักษาเสถียรภาพข้อต่อหัวไหล่
จุดเกาะต้น อยู่ที่กระดูกซี่โครง ตั้งแต่ ซี่ที่ 1 ถึง 9 (1st to 9th rib)
จุดเกาะปลาย อยู่ที่ขอบด้านในของกระดูกสะบัก (Medial border of the scapula)
และสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้
Superior part คือบริเวณซี่โครงซี่ที่ 1-2 ไปยังมุมสบักด้านบน (Superior angle of the scapula)
Intermediate part คือบริเวณซี่โครงซี่ที่ 2-3 ไปยังขอบด้านในของกระดูกสะบัก (Medial border of the scapula)
Inferior part คือบริเวณ ซี่โครงซี่ที่ 4-9 ไปยังขอบด้านในของกระดูกสะบัก (Medial border of the scapula) ถึงขอบสบักด้านล่าง (Inferior border of the scapula)
ทำหน้าที่ ในการดึงสะบักออก ,หมุนกระดูกสะบักไปด้านบน ,ดึงสบักให้ติดซี่โครง ,ช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อไหล่เมื่อยกแขน ,ยกซี่โครงขึ้น และเป็นกล้ามเนื้อช่วยหายใจ
ท่าอาสนะที่สร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อเซอราตัส แอนทีเรีย (Serratus anterior)
-ท่าแพลงค์ (Phalakasana)
-ท่าสุนัขก้มหน้า (Downward-Facing Dog)
-ท่าอีกา (Bakasana)
ท่าอาสนะที่กล้ามเนื้อยืดกล้ามเนื้อเซอราตัส แอนทีเรีย (Serratus anterior)
-ท่าอูฐ (Ustrasana)
-ท่าสะพานโค้ง (Urdhva Dhanurasana) เป็นต้น
ครูหลง