
กล้ามเนื้อ เพคทอราลิส (Pectoralis Muscles)
เวลาทำท่าสะพานโค้ง แล้วรู้สึกตึงที่บริเวณอก ทำให้รู้สึกว่ายืดได้ไม่สุด สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อ เพคทอราลิส (Pectoralis Muscles) ที่มีความตึงอยู่มาก และนอกจากนั้นแล้ว ยังส่งผลให้มีท่าทางหลังค่อมได้อีกด้วย
กล้ามเนื้อเพคทอราลิส (Pectoralis Muscles) คือกล้ามเนื้อบริเวณอก ประกอบด้วยกล้าม กล้ามเนื้อเพคทอราลิส เมเจอร์ (Pectoralis Major)และ กล้ามเนื้อเพคทอราลิส ไมเนอร์ (Pectoralis Minor) มีลักษณะที่สำคัญดังนี้
กล้ามเนื้อเพคทอราลิส เมเจอร์ (Pectoralis Major) เป็นกล้ามเนื้อทรวงอกมัดใหญ่ รูปสามเหลี่ยมคลุมอยู่บนอก และทับอยู่บนกล้ามเนื้อ Pectoralis minor ทำหน้าที่ หุบแขน หมุนต้นแขนเข้าด้านใน ช่วยยกแขน ใช้ในการผลัก ขว้าง ปีนป่าย รั้งแขนให้มาทางด้านหน้าทำให้ไหล่คงรูปอยู่กับที่
กล้ามเนื้อPectoralis Major
กล้ามเนื้ออกมัดใหญ่ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตามจุดเกาะต้น ได้แก่
ส่วน Clavicular head
กล้ามเนื้อส่วนนี้เป็นกล้ามเนื้ออกส่วนบน เป็นส่วนของกล้ามเนื้อ Pectoralis major ซึ่งยึดเกาะกับกระดูกไหปลาร้าหรือ Clavicle และกระดูก Humerus โดยวางตัวในแนวขวางด้านบนของส่วนอก ทำงานเป็นหลักเมื่อแขนอยู่ตำแหน่ง 45 องศา
ส่วน Sternal Head
กล้ามเนื้อส่วนนี้ ยึดเกาะกับกระดูกอกหรือSternum และกระดูก Humerus โดยวางตัวในแนวขวางหน้าอก ทำงานเป็นหลัก เมื่อแขนอยู่ตำแหน่ง 90 องศา
ส่วน Abdominal Head
กล้ามเนื้อส่วนนี้มีจุดเริ่มจาก กล้ามเนื้อท้อง และกระดูก Humerus โดยวางตัวพาดผ่านส่วนล่างของหน้าอก ทำงานเป็นหลักเมื่อแขนอยู่ตำแหน่ง 135 องศา
กล้ามเนื้อPectoralis Minor
กล้ามเนื้อ Pectoralis Minor เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้กล้ามเนื้อ Pectoralis Major ยึดเกาะกับกระดูกสะบักหรือScapula ที่ตำแหน่ง Coracoid process และกระดูกซี่โครงซี่ที่ 3, 4 และ 5 ทำหน้าที่ในการดึงหัวไหล่ไปทางด้านหน้าและลงล่าง นอกจากนั้นยังเป็นกล้ามเนื้อช่วยการหายใจอีกด้วย
การนั่งหลังค่อม ห่อไหล่ ส่งผลให้กล้ามเนื้อ Pectoralis Minor อยู่ในลักษณะหดสั้น จะส่งผลให้กล้ามเนื้อสะบักด้านหลังอยู่ในลักษณะยืดค้าง และทำให้กล้ามเนื้อสะบักมีแนวโน้มที่จะอ่อนแอยืดออก และนำไปสู่ภาวะ Muscle imbalance ได้
ท่าโยคะที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อเพคทอราลิส (Pectoralis Muscles) ตัวอย่างเช่น
ในท่าปริวฤตตะ ปารศวะ โกณาสนะ (Parivrtta parsvakonasana) และในท่าArm Balance ต่างๆ กล้ามเนื้อ เพคทอราลิส (Pectoralis) จะหดตัวเข้า (Concentric Contraction) ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง
ในท่าธนู (Dhanurasana) และในท่าBackbendต่างๆ กล้ามเนื้อ เพคทอราลิส (Pectoralis) จะยืดตัวออก (Eccentric Contraction) ช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่น
ครูหลง