
สะพานเปิดใจ
ท่าสะพานโค้ง เป็นท่าที่ยากมากๆ สำหรับบางคน และก็เป็นท่าที่ง่ายมากๆ สำหรับบางคนเช่นกัน ส่วนจะยากหรือง่ายนั้น ก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและความยืดหยุ่นของร่างกาย รวมถึงการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ
ครูแต่ละท่านก็จะมีเทคนิค ที่แตกต่างกันไป บางคนก็ให้เปิดอกเยอะๆ ครูบางคนก็บอกให้รู้สึกที่ขาเยอะๆ นั่นก็ขึ้นอยู่กับส่วนที่ครูท่านนั้นต้องการเน้น
การที่ครูให้เปิดอกเยอะๆนั้น ก็ช่วยให้เราได้ยืดลำตัวส่วนหน้าได้มากๆ ช่วยเพิ่มพื้นที่ให้ คอ บ่า ไหล่ หลัง บางคนที่ร่างกายเปิดมากๆ ทำท่านี้แล้วจะรู้สึกสบาย เป็นที่อิจฉาของเพื่อนที่ไหล่ตึง
ส่วนการที่ครูบางท่าน บอกให้รู้สึกที่ขาเยอะๆ ก็อาจจะเห็นว่า ผู้ฝึกบางคนอกเปิดดีแล้ว อยากจะให้กลับมารู้สึกที่ขาบ้าง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับขา หรือฝึกเพื่อให้กลับขึ้นมายืนได้จากท่าสะพานโค้ง และในท่ายืนโค้งหลังลงสะพานโค้ง (Drop Back) ได้ โดยเฉพาะการฝึกแบบอัชทังก้า
ความหมายของท่า
Urdhva Dhanurasana
urdhva = เหนือขึ้นไป
dhanu = คันธนู
ประโยชน์ของท่า
ช่วยยืดลำตัวส่วนหน้า เพิ่มความแข็งแรงให้กับแขน ข้อมือ ขา สะโพก ท้องและหลัง กระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ และต่อมพิทูอิทารี่ ช่วยลดอาการตึงที่คอ บ่า ไหล่ และลำตัวส่วนหน้า
ข้อควรระวัง
ผู้ที่มีอาการเจ็บหลัง เจ็บข้อมือ ปวดหัว โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต ก็ควรหลีกเลี่ยง
ครูบางคนใช้หลักอนาโตมี บางคนใช้อะไลน์เมนต์ บางคนก็ใช้ลม บางคนก็ใช้จิตวิญญาณ บางคนบอกเบาสบาย บางคนบอกเอ็นเกจเยอะๆ เราก็ลองเลือกดูว่าอะไรเหมาะสมและพัฒนาร่างกายของเราได้
การเปิดอก เปรียบเสมือนการเปิดใจ เพื่อยอมรับ ความแตกต่าง ความแตกต่างทางเทคนิค ของแต่ละสายหรือแต่ละครูนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ละเทคนิคมีจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน มีข้อดีไปคนละแบบ ขอเพียงให้เราเข้าใจว่า เทคนิคที่เราฝึกอยู่นี้ ฝึกไปเพื่ออะไร เหมาะสมกับเราหรือไม่
การฝึกโยคะนั้น ฝึกเพื่อความสงบภายใน ช่วยส่งเสริมต่อสันติภาพในสังคม และช่วยแบ่งปันสิ่งดีๆร่วมกัน มาเปิดใจกันครับ
ครูหลง