
Upward-Facing Dog Pose กับ Cobra Pose แตกต่างกันอย่างไร?
Cobra Pose (Bhujangasana)
Bhujanga = งู
ท่านี้เราพบท่านี้ใน Classic Surya Namaskar และในคลาสหฐโยคะ เป็นส่วนใหญ่
วิธีการทำ นอนราบ มือสองข้างวางพื้นแนบข้างลำตัว หายใจเข้าแล้วยกลำตัวส่วนบนขึ้น หน้าท้องพ้นพื้น สะโพกไปจนถึงปลายเท้ายังคงวางที่พื้น งอศอกแนบข้างลำตัว ดึงไหล่และสบักลง ยกขึ้นมาเท่าที่ได้ ระวังไม่ให้มีแรงกดอัดลงไปที่หลังล่าง แล้วเชยคางขึ้น
ประโยชน์ของท่า ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูกสันหลัง และยืดกล้ามเนื้ออก หัวไหล่ และหน้าท้อง เพี่อเปิดลำตัวส่วนหน้า กระชับกล้ามเนื้อก้น กระตุ้นการทำงานของปอด หัวใจ และอวัยวะภายในช่องท้อง บรรเทาอาการปวดสะโพก
ส่วน Upward-Facing Dog Pose
(Urdhva Mukha Svanasana)
Urdhva = แหงน,ขึ้น
Mukha = หน้า
Svana = สุนัข
ท่านี้เราพบได้ใน Surya Namaskar A,B คลาสวินยาสะโยคะ อัชทังก้าวินยาสะ หรือคลาสอื่นๆ
วิธีการทำ นอนราบ มือสองข้างวางข้างลำตัว หายใจเข้าแล้วยกลำตัวขึ้นมา อก หน้าท้อง สะโพก ต้นข้า หน้าแข้ง พ้นจากพื้นทั้งหมด แขนตรง ปลายนิ้วเท้าวางลงพื้น ดึงหัวไหล่และสบักลง ยืดอก เชยคางขึ้น
ประโยชน์ของท่าเหมือนกับท่า Cobra Pose แต่ที่มากกว่าคือ การที่ได้ยืดลำตัวส่วนหน้าจากปลายนิ้วเท้าไปถึงศีรษะ และความแข็งแรงที่ข้อมือ ท่อนแขน หัวไหล่ หลัง สะโพก ไปจนถึงท่อนขา
ทั้งสองท่านี้ไม่เหมาะกับ ผู้ที่มีอาการปวดหลังและคอ อาการเส้นประสาทกดทับที่บริเวณข้อมือ และผู้ที่ตั้งครรภ์
ท่า Cobra Pose เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับลำตัวช่วงบน ได้แก่หลังบน สบัก หัวไหล่ ต้นคอ
ส่วนท่า Upward-Facing Dog Pose เหมาะสำหรับ การเพิ่มความแข็งแรงให้กับ ข้อมือ ท่อนแขน หัวไหล่ แผ่นหลัง สะโพก ท่อนขา ขาหนีบด้านใน และช่วยเปิดอก รวมถึงลำตัวด้านหน้าทั้งหมด
ต่อไปนี้ ถ้าครูโยคะให้ทำท่า Cobra Pose หรือท่า Upward-Facing Dog Pose ก็สามารถทำได้ อย่างถูกต้องแล้วนะครับ
ครูหลง